?แกรม?? หน่วยที่ใช้วัดความหนาของกระดาษ📃 คืออะไร

?แกรม?? หน่วยที่ใช้วัดความหนาของกระดาษ📃 คืออะไร

เวลาซื้อกระดาษ โดยเฉพาะกระดาษสำหรับเครื่องพิมพ์หรือถ่ายเอกสาร ทุกท่านคงคุ้นๆ ว่า ที่ข้างห่อจะมีการระบุว่าเป็นกระดาษกี่แกรม เช่น 70 แกรม, 90 แกรม หรือ 120 แกรม คนส่วนมากจะรู้ว่ายิ่งแกรมที่มีค่าเยอะ ก็หมายถึงกระดาษนั้นดีและมีความหนา แต่น้อยคนจะรู้ว่าเรามีวิธีการวัดค่าแกรมกระดาษกันอย่างไร หน่วย ?แกรม? ที่เราได้ยินจนคุ้นหู จริงๆ มาจากคำว่า กรัม (gram) หน่วยของการวัดน้ำหนักนั่นเอง กระดาษ 70 แกรมก็คือ กระดาษที่มีขนาด 1×1 เมตร หรือ 1 ตารางเมตร และเมื่อนำไปชั่งจะมีน้ำหนัก 70 กรัมนั่นเอง

สำหรับงานผลิตสมุดแล้ว จำนวนแกรมมีผลอย่างมากทั้งเรื่องคุณภาพและราคา ขนาดแกรมที่ใช้ทำเนื้อสมุดนักเรียน📔ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 50-60 แกรม เนื้อสมุดที่มีจำนวนแกรมน้อย แสงจะส่องผ่านได้มากและทำให้เวลาเขียนครบทั้งหน้าหลัง ผู้อ่านจะเห็นตัวหนังสือที่เขียนอยู่อีกด้านทำให้ยากและอาจเสียสายตาเวลาอ่าน อีกทั้งกระดาษอาจจะขาดง่ายเวลาโดนความชื้นหรือแรงกดจากดินสอและปากกา🖊 ส่วนกระดาษที่แกรมเยอะเกินไป หรือ หนา นอกจากจะทำให้มีต้นทุนและราคาที่สูงแล้ว เวลานักเรียนพกสมุดติดกระเป๋าหลายๆเล่ม น้ำหนักก็อาจจะมากเกินไป อีกทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรทางธรรมชาติด้วย

จากเนื้อในสมุด เรามาพูดถึงปกสมุดกันบ้าง แน่นอนปกสมุดต้องหนาและมีแกรมที่มากกว่าเนื้อเพราะปกสมุดจะต้องทำหน้าที่ปกป้องเนื้อข้างในให้คงรูปเล่มและสามารถใช้งานได้นานๆ นอกจากนั้นปกสมุดก็เปรียบเสมือนหน้าตาของคนเราที่จะต้องมีรูปลักษณ์สวยงาม ชวนให้ถือ พก หรือ สัมผัส ดังนั้นการแต่งหน้า หรือ การพิมพ์และการเคลือบผิวหลากหลายรูปแบบเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ปกสมุดจึงมีแกรมที่มากกว่าเนื้อหลายเท่า เช่น 200 ? 300 แกรม เป็นต้น